Tuesday, March 28, 2017

จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ๑๐๐ ปี

พระสัมโมทนียกถา
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ประทานในพิธีบำเพ็ญกุศลวาระ ๑๐๐ ปี
แห่งการประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันเสาร์ ที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐

ขออำนวยพร ​
คุณหญิงนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
ท่านอธิการบดี, คณะผู้บริหาร,
คณาจารย์, บุคลากร,
นิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน ทุกท่าน.

​อาตมภาพรู้สึกชื่นชมยินดี ที่ได้มาอยู่ท่ามกลางสาธุชนชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกท่าน  ในวาระที่มหาวิทยาลัยจะเจริญอายุครบ ๑๐๐ ปี  การที่ท่านพร้อมเพรียงกันมาบำเพ็ญกุศลฉลองมหาวิทยาลัย และตั้งจิตอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  สองพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐของประชาชาติไทย และโดยเฉพาะของชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันนี้ นับได้ว่าเป็นประเดิมแห่งการสมโภชมหาวิทยาลัยอันจะมีต่อไปในวันพรุ่งนี้ กล่าวได้ว่าทุกท่านเป็นคนดี เพราะธรรมพื้นฐานอันเป็นภูมิของสัตบุรุษคนดี คือความกตัญญูกตเวที

​ท่านทั้งหลายทราบดีแก่ใจแล้วว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นด้วยพระราชประสงค์ใด อาตมภาพขอย้ำเตือนในมงคลวาระนี้อีกครั้งหนึ่งว่า เพราะทรงพระราชปรารถนาความเจริญวัฒนาแก่ประเทศชาติ ด้วยหลังจากทรงปฏิรูประบบราชการในแผ่นดินสยาม จนอาจเรียกได้ว่าพลิกแผ่นดินให้สยามเป็น “อารยประเทศ” แล้ว ก็ต้องทรงสร้าง “อารยชน” ให้บังเกิดขึ้นเป็นกลจักรสำคัญแห่งระบบราชการของพระองค์ โรงเรียนมหาดเล็กที่ทรงสถาปนาขึ้นนั้น คือสถานบ่มเพาะข้าราชการรุ่นแรกๆ ของสยามตามพระบรมราโชบาย ความเป็นอารยะนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากบุคคลปราศจาก “ปัญญา” โรงเรียนชั้นสูงแห่งนั้นได้สรรค์สร้างปัญญาชน เป็นกำลังแห่งบ้านเมืองมาได้พอสมควรแก่กาลสมัย

​วันเวลาล่วงไปไม่นาน สมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จสวรรคตล่วงลับไป แต่ก็ยังนับเป็นมหาโชคของชาวไทย ที่ได้มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นอัจฉริยบุรุษ เป็นปราชญ์ของโลก เสด็จผ่านพิภพสืบราชสันตติวงศ์ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเร่งขยายกิจการโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชนชาวสยาม ในนามว่า “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ท่านทั้งหลายสังเกตถ้อยคำบ้างหรือไม่ ว่านามของสถาบันนั้นไม่ได้ทรงใช้เป็นพระปรมาภิไธยส่วนพระองค์ หากแต่ทรงตั้งพระราชหฤทัยถวายไว้เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ แม้การสถาปนาโรงเรียนชั้นอุดมศึกษาเช่นนี้จะเป็นเกียรติยศพิเศษแห่งแผ่นดินใหม่ เป็นปฐมราชกรณียกิจยิ่งใหญ่ที่บังเกิดขึ้น ในระยะเวลาที่เสวยราชย์ได้เพียง ๒ เดือนเท่านั้น แต่ด้วยพระราชหฤทัยกตัญญูกตเวที กลับมิได้ทรงพระราชปรารถนากิตติศัพท์ส่วนพระองค์ หากทรงยกถวายไว้ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระปิยมหาราช ทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์ เป็นทุนประเดิมมหาศาลที่เหลือจากการสร้างพระบรมรูปทรงม้า พระราชทานที่ดินอันกว้างใหญ่ไพศาลนับพันไร่ พระราชทานพระบรมราโชบายและบุคลากรเพื่อการบริหารจัดการ พระราชทานสรรพสิ่งซึ่งจะลงหลักปักฐาน เป็นมหาวิทยาลัยต่อไปในอนาคตกาล

​ตราบกระทั่งวันที่ ๒๖ มีนาคม เมื่อ ๑ ศตวรรษก่อน มหาวิทยาลัยแห่งแรกของกรุงสยามจึงได้รับพระราชทานพระมหากรุณาให้เริ่มต้นหยัดยืน ทรงใช้คำในพระบรมราชโองการประกาศว่า ทรง “ประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” คำว่าประดิษฐานนั้นแปลว่าตั้งให้ยืนหยัดขึ้นพร้อมที่จะออกเดินหน้าต่อไป ขอให้พึงสังเกตอีกครั้งว่าแม้วาระที่จะออกพระปรมาภิไธยในรัชกาลที่ ๖ เพื่อเป็นพระเกียรติยศจำเพาะพระองค์ได้ชั่วกัลปาวสานก็กลับไม่ทรงกระทำ ยังคงทรงออกพระปรมาภิไธยสมเด็จพระบรมชนกนาถอีกตามเคย ผู้คนทั้งหลายทุกวันนี้ เมื่อเอ่ยถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็คงระลึกถึงสมเด็จพระปิยมหาราชเป็นต้น เฉพาะผู้ทราบประวัติถ่องแท้จริงๆ จึงจะระลึกถึงสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าเป็นลำดับต่อมา

​หลายท่านคงเริ่มสงสัยว่า อาตมภาพย้ำเตือนเช่นนี้ซ้ำๆ ต่อท่านทั้งหลายด้วยเหตุใด ขอเฉลยว่า เพราะมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานแห่ง “ความกตัญญูกตเวที” คำว่ากตัญญูคือรู้คุณท่าน คำว่ากตเวทีคือสนองคุณท่าน สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงสนองพระราชดำริของสมเด็จพระบรมราชบุพการีที่ทรงพระราชปรารภจะให้มีมหาวิทยาลัย แม้การไม่ทันสมพระราชประสงค์ก็สิ้นรัชกาลที่ ๕ เสียก่อน แต่สมเด็จพระบรมราชโอรสก็ไม่ทรงละเลยที่จะสืบสานพระบรมราชปณิธานเพื่อประชาชนชาวสยาม จึงทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาท ทรงพากเพียรฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรคนัปการ อันกีดขวางการมีมหาวิทยาลัยให้พ้นผ่านไปได้ จนก่อร่างสร้างเป็นสถาบันอันมีเกียรติยศใหญ่เช่นนี้ในบัดนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่ทรงพระราชประสงค์ให้ใครมายกย่องสรรเสริญพระองค์ แต่ทรงพร้อมจะประกาศให้เป็นปิยมหาราชานุสรณ์สืบไป นาม “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” จึงมีความหมายลึกซึ้งและสูงส่งยิ่งนัก ทั้งในด้านที่มาและด้านอุดมการณ์

​หากว่าท่านทั้งหลาย ปรารถนาจะได้รับมงคลพรให้บังเกิดแก่ตนและบังเกิดแก่มหาวิทยาลัยของท่าน ขอท่านจงพินิจพระราชจริยาสัมมาปฏิบัติของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ผู้ทรงประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้ดีแล้วเมื่อร้อยปีก่อน พระองค์ทรงพระกตัญญูกตเวทีต่อสมเด็จพระบรมชนกนาถอย่างไร ขอท่านทั้งหลาย จงมีความกตัญญูกตเวทีต่อสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าอย่างนั้น พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ไว้ด้วยลักษณะปิดทองหลังพระ ไม่มีพระราชประสงค์เพื่อออกพระนามของพระองค์เอง แต่กลับมีพระราชประสงค์เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติไทย เพื่อกุลบุตรกุลธิดาถึงพร้อมด้วยปัญญา เพื่อเชิดชูพระปรมาภิไธยของสมเด็จพระปิยมหาราชอย่างไร ขอท่านทั้งหลายจงมีอุดมการณ์เต็มเปี่ยมในการประกอบกิจการงานและการศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยนี้ อย่างนั้นเถิด

​สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานพระพุทธานุศาสนีสั่งสอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผู้ปรารถนาจะทราบว่ามงคลที่แท้เกิดขึ้นได้อย่างไรไว้ถึง ๓๘ ประการ แต่ในโอกาสนี้ มี ๒ ประการ ที่อาตมภาพขอเชิญมากล่าวต่อทุกท่าน ไว้ให้ปรากฏแจ้งชัดแก่ใจ กล่าวคือ การบูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นมงคลอันอุดม สถาน ๑ และความกตัญญู เป็นมงคลอันอุดม อีกสถาน ๑

​ขอท่านทั้งหลายจงบูชาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความสมัครสมานสามัคคี และด้วยความขยันหมั่นเพียรต่อการงานและการศึกษาเล่าเรียน ขอท่านทั้งหลายจงกตัญญูรู้คุณของทั้งสองพระองค์ ตลอดจนบุพการีและบูรพาจารย์  ผู้มีพระคุณต่อมหาวิทยาลัย ด้วยการสืบสานพระบรมราชปณิธานและปณิธานทั้งนั้น เพื่อสร้างปัญญาชน และสร้างแผ่นดินไทย ให้เป็นแผ่นดินแห่งความรู้คู่คุณธรรม เพื่อบ้านเมืองของเราจะได้ดำเนินรุดหน้าไปบนหนทางของความดีงาม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างสิ่งวิเศษที่คนทั้งหลายไม่เคยคิดว่าจะเกิดมีขึ้นบนแผ่นดินไทยได้ ให้บังเกิดขึ้นแล้วบนแผ่นดินนี้ นั่นคือมหาวิทยาลัย ฉะนั้น ความผาสุกยั่งยืนของโลกนี้ก็อาจเริ่มต้นขึ้นได้จากคนไทย และจากแผ่นดินไทยได้ดุจกัน ขออย่านึกปรามาสตนเองว่าไม่อาจทำสิ่งอันยิ่งใหญ่เช่นนั้นได้ เพราะเท่ากับว่าท่านทั้งหลายกำลังหยุดก้าวเดินจากจุดเริ่มต้นที่ทรงประดิษฐานไว้อย่างดีแล้วเมื่อร้อยปีที่ล่วงมา

​ขอจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจงวัฒนาสถาพร เป็นบ่อเกิดแห่งความงอกงามไพบูลย์ ตลอดจำเนียรกาลประวัติ สมดั่งมนัสจำนงหมายของชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มุ่งมั่นเจริญรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระปิยมหาราช และสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า สืบไปตราบนิรันดร เทอญ.

​​​​​​​​ขออำนวยพร

No comments:


View My Stats