หลายท่าน คงไม่รู้ซึ้งของคำว่า ทาส หรือ การเป็นทาส เท่าไรนัก แม้แต่ มะไฟ เอง ก็ไม่มียกเว้นด้วย เพราะ ไม่เคยตกเป็นทาสใคร แต่กับบางท่าน พวกเขาตระหนักดี ถึงความเป็นไท ที่พวกเขามีอยู่ในปัจจุบันนี้ หากไม่ได้พระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าหลวงแล้วไซร้ เขาเหล่านั้น คงไม่รู้ว่าจะเป็นเช่นไร ในปัจจุบันนี้
เป็นไท แล้ว งานการสัมมาอาชีพสำหรับการเลี้ยงตัว และ ครอบครัว ก็ต้องมี การศึกษาก็ต้องมี เพื่อมิให้เกิดความลำบากในภายหน้าแก่สังคม
นี้นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง ที่จะหาไม่ได้จากใคร นอกจากพระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหาราช ของเรา ชาวไท ทุกคน
เป็นไท แล้ว ก็ควรพึ่งพาตนเอง สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยลำแข้งแห่งตนให้ได้ และต้องไม่ทิ้ง ไม่ลืม น้ำใจ ด้วย
อีกสักพักใหญ่ๆ จะมาต่อในเรื่องของ ภาษาไทย
หลายพักเลย ที่ว่าสักพักใหญ่น่ะ กลายเป็นพักเล็กๆ แต่หลายพัก ขออโหสิด้วยเถิด วันพระด้วย วันออกพรรษาด้วย มาจวบกัน
มาต่อกันในเรื่องภาษาไทย ซึ่งประเด็นนี้ มะไฟ ต้องขอออกตัวว่า แม้กระทั่งตนเองยังปฏิบัติได้ไม่เต็มที่นัก แต่ก็เกิดจากความคุ้นเคย ชิน กับตำราฝรั่งที่เรียนมาสมัยอยู่สามย่านหนึ่งล่ะ กับเมื่อเข้ามารับราชการ ที่ พปส. นั้น เจ้านายท่านบังคับว่า ให้อ่านหนังสือเดือนละเรื่อง แล้วมาสรุปให้ท่านฟัง ก็แลเรื่องที่ได้รับมอบหมาย ล้วนแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับงานที่ทำ แต่เป็น paper ที่ท่านมี แล้วนำมาให้น้องนุ่งได้ศึกษากัน หนึ่งล่ะ และเมื่อกล่าวกันจริงๆจังๆแล้ว สรรพความรู้ด้านนี้, การจัดการกากกัมมันตรังสี และ กากนิวเคลียร์, ก็เป็นแต่ภาษาต่างประเทศทั้งนั้น เลยเกิดความคุ้นเคย ชิน กับภาษาฝรั่งอย่างว่า ไม่ได้เขียนเพื่ออวดตัว และให้เพื่อนๆ พี่ๆ หนั่นไส้ เอาแต่อย่างใดเลย (ส่วนน้องๆ จะร่วมหมั่นไส้ด้วย ก็ไม่ได้ห้ามน่ะ คริคริ)
ก็เหตุนี้แหละ ที่ว่าต้องออกตัวไว้ก่อน
เมื่อก่อน สมัยทำงานอยู่ที่ พปส. และ ปส. นั้น ได้เข้าร่วมกับคณะทำงานศัพท์นิวเคลียร์ นัยว่าคณะนี้ตั้งมาเพื่อพูดจา สนทนา สะสางกันในเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นเรื่อง ก็คำฝรั่งที่เราๆก็รู้ เข้าใจกันอยู่ดีแล้วนั้นเอง นั่นแหละ อย่างกับคำ dose, exposure, radiactivity, radioactive, radioactive waste etc ทำนองนี้ ต่างก็รู้ เข้าใจกันดีอยู่
แต่พอจะเขียนเป็นภาษาไทยกันขึ้นมา
ยุ่งเลย งวดนี้
ดังนั้น ที่ดูว่าจะเป็นคณะที่ไร้สาระ กลับกลายเป็นพอมีสาระขึ้นมาทันที อย่างน้อยๆก็ วิทยานิพนธ์แหละ เขาบังคับว่าให้ใช้คำภาษาไทย หากจะมีฝรั่ง ก็ให้เขียนทั้งเล่ม เพื่อนเลยเขียนมาซะเล่มจริงๆ แล้วทำพิเศษ มาให้ มะไฟ ไว้เป็นของขวัญ ๑ เล่ม ค่าที่ มะไฟ ช่วยเธอทำ
เอาง่ายๆ exposure หากจะถอด หากจะแปล ก็น่าจะเป็นคำ เผยผึ่ง ก็ยังได้ (จำเอามาจากคำพี่ถมอีกที) ไม่เชื่อ ก็ไปดูกล้องถ่ายรูปซิ เวลาถ่ายรูปน่ะ เราเปิดรู ให้แสงเข้า และแสงนั้นมันก็วิ่งผ่านรูน้อยๆนั้น เข้ามาคลุกคลี ปะทะกับผิวฟิล์มถ่ายรูป
อาการที่แผ่นฟิล์ม เปิดรอแสงอยู่นั้นนั่นแหละ คือ exposure ดังนั้น กับการที่จะใช้คำว่า เผยผึ่ง มาแทนคำฝรั่งว่า exposure จึ่งไม่น่าคลาดเคลื่อนมากนัก นี่ พี่ถมท่านว่ามายังงี้
อ้อ พี่ถมเขา เล่นกล้อง ล้างฟิล์มถ่ายรูปเองด้วยน่ะ เลย ลึกซึ้ง กับคำพวกนี้
ตอนนี้ คณะนั้น จะยังทำงานอยู่หรือไม่ ก็ไม่ทราบ เพราะได้ลาออกไปจากคณะนั้นแล้ว นานแล้ว
แต่การที่จะไม่ทำต่อโดยอ้างว่า ออกจากคณะนั้นแล้ว มันดูไม่ถูกนัก เพราะเราเอง ก็ทำงานเอง ด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องมารอให้ใครมาแต่งตั้งเลย
ยิ่งเมื่อ สองสามเดือนก่อนที่ผ่านไป ได้รับหนังสือจากสถาบันที่เคยอาศัยอยู่เขาส่งมาให้ มีเรื่อง ๑๐๐ ปีสมาคมแก้ภาษา ที่รัชกาลที่ ๕ พระองค์ท่านดำริขึ้นมา เพื่อแก้ไขคำที่ใช้ผิดเพี้ยนกันด้วยแล้ว ยิ่งทำให้รู้สึกว่า ตนนี้ บาปหนักหนาอยู่ ค่าที่ใช้ภาษาไทยไม่ค่อยเป็นเรื่อง แต่ก็ด้วยเหตุ ด้วยผล ที่ยกมากล่าวไว้แต่ตอนกลางเรื่องนั้น แม้จักไม่สมประกอบนัก แต่ก็มี เหตุผล แหละ เลยรอดตัวไป
สมัยเรียนอยู่ ปี ๑ วิชา calculus นั้นพอพูดถึงเรื่อง การหาค่ามากสุด น้อยสุด ทีไร มักได้ยินอาจารย์ท่านพูดให้ฟังว่า จุด สูงสุด หรือ ต่ำสุด นั้น เป็น จุดวิกฤติ เพราะเมื่อเลยจุดนี้ไปแล้ว มันก็กลับคือสู่สภาวะปกติ หรือ ไม่ปกติ ของมันทันที แล้วแต่ว่า จะ ตก จะขึ้นไปทางทิศไหน
ที่จุดวิกฤตินี้ ความชันของเส้นสัมผัสมีค่าเป็น ๐ การเปลี่ยนแปลงของค่าความชัน ถ้าว่า จาก บวก เป็น ศูนย์ แล้ว เป็น ลบ นั่นคืออยู่ตำแหน่ง สูงสุด แต่หากอยู่ในตำแหน่ง ต่ำสุดแล้ว การเปลี่ยนแปลงของค่าความชัน จะเปลี่ยนเครื่องหมายจาก ลบ แล้วก้าวเข้าสู่ค่าศูนย์ แล้วก้าวเข้าสู่ เครื่องหมายบวก
อนึ่ง หากมันจะสลับกลับกันอย่างไร ก็ขออภัยด้วยเถิด เพราะผ่านมาตั้งสี่สิบปีแล้ว หย่อนไปก็สักปี สองปี
ทีนี้ มาดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองเราตอนนี้ ใช่แล้วครับ น้ำท่วม อุทกภัย ทีนี้ ภัย มันเกิดขึ้นแล้ว เต็มๆ ก่อนหน้านั้น ก็ปกติ แล้วมีฝนพรำ พายุเข้า ฝนหนัก หลังจากนี้ไป ก็คงฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของผู้คน ให้เข้าสู่สภาวะปกติ
ดังนั้น กับการที่ สื่อ ตีข่าวกันครึกโครมว่า วิกฤติภัยน้ำท่วม นั้น ดูจะไม่ถูกน่ะ ไม่ถูกหรอก ตอนนี้ ต้องใช้คำว่า ภัยน้ำท่วมได้แล้ว เพราะ วิกฤติ ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่มันกลับมาอยู่ในสภาวะ ภัย แทนยังไงล่ะ
ที่เขียนขึ้นมา เจตนาก็เพื่อรำลึกถึงพระคุณของพระปิยมหาราช เท่านั้น และ หนังสือที่ว่า ชื่อ ปิยมหาราชานุสรณ์ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๒ ผู้เขียนที่เขียน แล้วนำสาระมาอ้างอิงชื่อ รื่นฤทัย สัจจพันธ์ ชื่อเรื่อง ๑๐๐ ปี สมาคมแก้ภาษา สมาคมรักษาภาษาไทย หรือ นิรุกติสมาคม ขอท่านผู้สนใจไปหาอ่านเอาเองเถิด
ขอจบด้วยบทสนทนาขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้า กับ ธิดาช่างหูก ที่คัดลอกตัดตอนมาจากหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒๔ ตค ๒๕๕๓ ปางโปรดธิดาช่างหูก โดย เสถียรพงษ์ วรรณปก
๏
กุมาริกา เธอมาจากไหน
ไม่ทราบ พระเจ้าข้า ก่อนที่จะมาเกิดเป็นธิดาช่างหูก ไม่ทราบว่าเกิดเป็นอะไร มาจากภพไหน ๚
เธอจะไปไหน
ไม่ทราบ พระเจ้าข้า ตายไปแล้ว จะไปเกิดที่ไหน ๚
เธอไม่ทราบหรือ
ทราบ พระเจ้าข้า ไม่รู้หรือว่าต้องตาย เธอรู้ ๚
เธอทราบหรือ
ไม่ทราบ พระเจ้าข้า รู้หรือจะตายเมื่อไหร่ เธอไม่รู้ ๚
๛
จฬ.๖ส ๑๔๑๒๕๔
No comments:
Post a Comment