Saturday, May 1, 2010

การทำงาน คือ การปฏิบัติธรรม

ข้อความนี้ ได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟังหลายหนจากท่านพุทธทาส และ จากวิทยุกระจายเสียง และโดยเฉพาะ ช่วงที่เข้ามาเรียน ในมหาวิทยาลัย จะได้ยินบ่อยมาก เพราะสื่อมีมากกว่าต่างจังหวัด ที่มักจะได้ยินก็ในโอกาสพิเศษ และ ทุกๆวันอาทิตย์

ความจริง ธรรม ข้อนี้ พระสงฆ์สาวก ท่านก็ทราบดีทุกรูป และก็เทศนาให้ฟังก็บ่อยไป แต่ที่ประทับใจใน ท่านพุทธทาส ก็เพราะ ช่วงที่ เข้ามาเรียนหนังสือ ในกรุงเทพนั้น สามารถ หาอ่าน หนังสือของท่าน เล่มละบาทรึไงนี่แหละ ได้ง่ายมาก ทำให้ พอเข้าใจ พุทธศาสนา ได้ขึ้นมาบ้าง

ธรรมของพระพุทธเจ้า เหมือนกันหมดทั้งนั้น

ใครเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ความข้อนี้ ดูว่าพระสงฆ์องค์เจ้าท่านจะได้เปรียบ พระท่านอยู่ในศีล อยู่ในธรรม และก็จริง เพราะ คุณแห่งพระสงฆ์ นั้น คือ ท่านเป็นเนื้อนาบุญ ให้เหล่ามนุษย์ เทวดา พรหม และสรรพสัตว์ ได้ทำบุญ ยิ่ง หากได้ทำบุญกับ อริยสงฆ์ ด้วยแล้ว ผลบุญก็ยิ่งได้รับกลับคืนมามาก แทบจะเรียกว่า ทำอะไรไป ก็ได้อันนั้น

แต่ความข้างบน, ใครเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต , ก็มิได้จำกัดอยู่แต่ในหมู่พระสงฆ์เท่านั้น หามิได้ ชาวบ้านก็สามารถ เห็นธรรม ได้ด้วยเช่นกัน เพียงแต่ต้องใช้ความเพียร สูงกว่า มากกว่าปกติของพระสงฆ์ท่าน เท่านั้นเอง มั้ง

ต้องมีคำว่า มั้ง อยู่ด้วย ไม่งั้นจะทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนว่า มะไฟ เห็นธรรมแล้ว ยัง ยังไม่ถึงขั้นนั้นหรอก

แต่การทำงานนั้น ทำแน่ และนี่แหละเป็นที่มาของเรื่องราว

ในบทพระธรรมคุณนั้น ท่านว่าพระธรรมมีคุณวิเศษยิ่ง เพราะสามารถดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์ของสัตว์โลกทั้งหลายได้ ด้วยอาศัย ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค-ผล นฤพาน อันมี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสติ สัมมาวายามะ ประกอบไปทุกตอน นับจากแรกเริ่มไปจนสุดท้าย หนึ่งล่ะ

ท่านว่า พระธรรม ไม่มีกาล โดยหมายเอาความจริงที่ว่า กุลบุตร กุลธิดา อุบาสก อุบาสิกา ท่านใด ปฏิบัติธรรม ด้วยความมุ่งมั่น ด้วยความเพียร เมื่อใด พระธรรม ย่อมให้ผลเมื่อนั้น ไม่มีกาล ไม่ต้องรอ เหมือนดั่ง มะม่วง มะละกอ มะเฟือง มะแว้ง เหล่านั้น ที่ต้อง ถึงฤดูกาล จึงจะให้ผล แต่พระธรรมท่านไม่เป็นเช่นนั้น ใครปฏิบัติต่อท่าน ด้วยความเพียรเมื่อใด ท่านให้ผล ติดต่อเนื่องกันไป ในบัดดลนั้นเองเลย หนึ่งล่ะ

ความนี้ เมื่อครุ่นคิดพิจารณาดูให้ดี ก็จะพอเข้าใจ ยกตัวอย่างว่า งานที่ได้มอบหมายมา เราใช้ความเพียรเข้าทำงานอย่างเข้มแข็ง ไม่ย่อท้อ ผลงานย่อมบังเกิดขึ้นแน่นอน และ ผลงานอันนี้แหละ จะเป็นตัวชี้วัดว่า เราได้ปฏิบัติงาน หรือเราได้ปฏิบัติธรรมแล้ว นั่นเอง

ท่านว่า พระธรรมนั้นเป็นปัจจัตตัง อันหมายเอาความจริงที่ว่า วิญญูชน ผู้ปฏิบัติธรรม ด้วยความเพียรเท่านั้น จึงจะรับทราบผล หรือ รส แห่งพระธรรมด้วยตนเอง ไม่ต้องให้ผู้อื่นบอก เฉกเช่นกับ การกินเกลือ เกลือมันเค็ม ครั้นคนมาถามว่า เค็ม เป็นยังไง เรา ก็ต้องบอก ต้องแนะ ให้ไปกินเกลือเอง จึงจะรู้รสเค็มแห่งเกลือ ฉันใด ก็ฉันนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมเท่านั้น จึงจะทราบซึ้งถึง
รส แห่งพระธรรม ได้ด้วยตนเองเท่านั้น นี่ก็อีกหนึ่งล่ะ

ธรรมนั้น หมายเอาทั้ง กุศล อกุศล และกลางๆ ..... กุศลาธัมมา อกุศลาธัมมา อพยากตาธัมมา....

กุศลกรรม ย่อมให้สุข
อกุศลกรรมย่อมนำทุกข์มาให้

สุขนั้น, เอ้า พูดแบบชาวบ้านๆ, ท่านได้ขึ้นเงินเดือน สุขนั้น ท่านไม่เดือนร้อนใจ กินก็สบาย นั่ง ยืน เดิน นอน ที่ไหนไหน ก็สบาย ไม่กังวลใจอะไรทั้งสิ้น

ส่วนทุกข์นั้นเล่า ไม่ว่าท่านจะอยู่ในอิริยาบทใด ย่อมหวาดระแวงไปหมดซะทั้งนั้น จะกิน ก็รีบๆกิน จะไปอยู่ที่ไหนไหน ก็ให้ หวาดระแวงไปทั่ว ว่าจะมีใครมาทำร้ายหรือเปล่า ข้าวของหรือสมบัติ ที่ได้มา ก็ให้กังวลใจว่าจะถูกเรียกคืน ... ฯลฯ นั่นคือทุกข์ เห็นๆกันอยู่

มีความเห็นที่ถูกต้อง มีความเพียรละความเห็นผิดอยู่ และ มีสติว่ากำลังละความเห็นผิดอยู่ เมื่อละความเห็นผิด อย่างมีสติได้แล้ว ก็ทราบเองว่าได้ละแล้ว นีคือองค์ ๓ ที่ประกอบกันไปจนตลอดสาย

เถิดน่ะ พี่ น้อง เพื่อน ลุง ป้า น้า อา หลาน และญาติๆทุกท่าน ได้โปรดเถิด วางดาบคืออรหันต์ นั่นหมายเอาถึงอย่างนี้ ละมิจฉาทิฏฐิเสีย ความสงบจะบังเกิดแก่ท่าน แลผู้คนรอบข้าง ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่นที่ไหน ญาติของท่านเองทั้งนั้น ก็จะพลอยได้รับอานิสงค์นี้ไปด้วย สงบ สุข สันติ

มะไฟ ฅนเหลิงฟ้า


ปฏิบัติธรรมด้วยการทำงาน การงานที่ถูกต้อง ย่อมนำสุขมาให้

No comments:


View My Stats